เทศกาลทานาบาตะ (ญี่ปุ่น :七夕หมายถึง ยามเย็นของวันที่เจ็ด )
เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองตามดวงดาวของญี่ปุ่น มีต้นกำเนิดมาจากงานเทศกาลเจ็ดนางฟ้าของจีน เนื่องจากการพบกันของนางฟ้าโอริฮิเมะ (ดาวเวก้า) และฮิโกโบชิ (ดาวอัลแทร์) ผู้เลี้ยงวัวบนสวรรค์ โดยอ้างอึงจากตำนานในอดีตว่าทางช้างเผือกคือแม่น้ำของดวงดาวพาดผ่านท้องฟ้า ได้แยกคู่รักคือโอริฮิเมะและฮิโกโบชิไม่ให้ได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา แต่อนุญาตให้พบกันเพียงปีละหนึ่งครั้งในวันที่เจ็ดของเดือนที่เจ็ดตามปฏิทินสุริยจันทรคติ เทศกาลเฉลิมฉลองมีขึ้นตอนกลางคืนของวันนั้น
เรื่องราวความเป็นมาของวันทานาบาตะ
เทศกาลทานาบาตะได้รับอิทธิพลจากตำนานเจ็ดนางฟ้าจากประเทศจีน ตำนานมีหลายหลายรูปแบบ บางรูปแบบได้ถูกรวมอยู่ในตำนานหมื่นใบไม้ ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมบทกลอนเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น
รูปแบบของตำนานที่ถูกกล่าวขานมากที่สุดก็คือ นางฟ้าโอริฮิเมะเป็นลูกสาวของกษัตริย์แห่งท้องฟ้า (หรือจักรวาล) ทำหน้าที่ทอผ้าอยู่ที่แม่น้ำอามาโนกาวะ ท่านพ่อชอบฝีมือการทอผ้าของเธอ แม้ว่าเธอจะทำงานอย่างหนักทุกวันแต่มันก็ไม่ได้ทำให้เธอมีความสุข เพราะไม่ได้พบหรือได้หลงรักชายใดเลย กษัตริย์แห่งท้องฟ้าผู้ห่วงใยลูกสาวเลยได้จัดการให้เธอได้พบกับฮิโกโบชิผู้เลี้ยงวัวอาศัยอยู่อีกฝั่งของทางช้างเผือก เมื่อทั้งคู่ได้พบกัน ไม่นานนักทั้งคู่ก็ได้หลงรักกันและได้แต่งงาน เมื่อแต่งงานแล้วนางฟ้าโอริฮิเมะก็ไม่ได้ขยันทอผ้าดั่งที่เคย ส่วนฮิโกโบชิก็ได้ปล่อยให้วัววิ่งเพ่นพ่านไปทั่วสวรรค์ ด้วยความโกรธ กษัตริย์แห่งท้องฟ้าจึงได้แยกทั้งคู่ไม่ให้พบกัน กีดกั้นโดยทางช้างเผือก นางฟ้าโอริฮิเมะเสียใจจากการสูญเสียสามีจึงได้ขอร้องบิดาของตนให้ได้เจอกับสามีของนางอีกครั้ง บิดาพ่ายแพ้แก่น้ำตาของลูกสาวจึงยอมให้ทั้งคู่สามารถเจอกันได้ในวันที่เจ็ดเดือนเจ็ดของทุกปี แต่จะสามารถพบได้ก็ต่อเมื่อเธอทำงานอย่างหนักและทอผ้าจนเสร็จ เมื่อถึงเวลาที่จะได้พบกันอีกครั้งแรก ทั้งคู่ไม่สามารถข้ามทางช้างเผือกมาพบกันได้เนื่องจากไร้ซึ่งสะพานข้ามทางช้างเผือก เมื่อรู้ดังนั้น นางฟ้าโอริฮิเมะได้ร้องไห้อย่างหนักจนฝูงนกกางเขนได้เข้ามาหาด้วยความสงสารและสัญญาว่าจะสร้างสะพานโดยใช้ปีกของพวกมันช่วยกัน จนเธอสามารถข้ามทางช้างเผือกได้ มีคนกล่าวไว้ว่าถ้าในวันทานาบาตะปีไหนเกิดฝนตก เหล่าฝูงนกกางเขนจะไม่สามารถช่วยเป็นสะพานในปีนั้นได้ จะทำให้ทั้งคู่ต้องรออีกถึงปีหน้าเพื่อที่จะได้พบกันอีก